จุฬาฯ จับมือห้องปฏิบัติการกลาง ประเทศไทย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม สู่ภาคธุรกิจ SME โดย ระยะแรกเตรียมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเชิงลึกเพื่อนำ GC-MS มาวิเคราะห์สารที่มีความซับซ้อน ในอาหารไทย เช่น เมล็ดกาเเฟ กัญชา
คณะวิทยาศาสตร์ และ บัณฑิตวิทยาลัย โดยหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำเทคโนโลยีการตรวจสอบ ของทั้งสองหน่วยงาน สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ให้สามารถยกระดับสินค้าและบริการ ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะมีผลงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ จำนวนมากที่มีศักยภาพและรอการนำออกไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ มีเครื่องมือและบริการต่างๆ ที่ให้บริการสำหรับบุคคลหรือภาคธุรกิจภายนอกอย่างเช่น ห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหาร และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ประสาทสัมผัสเชิงโมเลกุล ซึ่งให้บริการทางวิชาการแก่สาธารณะชนอยู่เป็นระยะๆ เชื่อว่าการร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ งานวิจัย และการทดสอบ วิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ หรือ บริการด้านอื่นๆ
รศ.ดร.ธรรมนูญ หนูจักร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า จากความร่วมมือนี้จะทำให้ภาคสังคม ธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME เข้าถึงคณะวิทย์จุฬาฯ ได้ง่ายขึ้น และขณะเดียวกับก็จะช่วยให้ภาคการศึกษาได้เข้าใจความต้องการของธุรกิจมากขึ้น การได้คุยกับผู้ประกอบการตรง ซึ่งจะเป็นแนวทางการทำวิจัยของคณาจารย์และนิสิตที่ต้องการทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของสังคมและธุรกิจ
โดยระยะแรก จะจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการ SME 2 กิจกรรม ได้แก่
1. อบรมเชิงปฏิบัติการ นำ เครื่องแก๊สโครมาโทรกราฟี-แมสสเปคสเปคโทรมิเตอร์ หรือ GC-MS วิเคราะห์สารที่มีความซับซ้อน ในอาหารไทย เมล็ดกาเเฟคั่ว ไวน์ หรือ กัญชา
2. กิจกรรมจากหิ้งสู่ห้าง เป็นการเปิดศูนย์ทดสอบศูนย์ปฏิบัติการ และแนะนำงานวิจัย นวัตกรรม ตลอดจนผลงานการค้นคว้าของคณาจารย์นิสิตระดับปริญญาโทและเอก ให้กับภาคธุรกิจที่สนใจได้นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรือเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาต่อไป
นราวิทย์ เปาอินทร์ กรรมการผู้อำนวยการ บ.ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กระบวนการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจกขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างรอบด้าน และเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยกลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตลอดจนการจัดอบรมทางวิชาการ การศึกษางานวิจัยต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ
ซึ่งความร่วมมือระหว่างหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดนวัตกรรม จุฬาฯ ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ พัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจเพื่อนกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของประเทศไทย มีศัยกภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศไทย
ที่มา : workpointnews