บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย สามารถให้การตรวจวิเคราะห์ “สารกำจัดศัตรูพืช” ใน ผัก และ ผลไม้ ทุกชนิดได้ ใน 4 กลุ่มสารอันตราย ประกอบด้วย organochlorine group , organophosphate group , pyrethroids group , Carbamate group โดยกลุ่มสารอันตราย 4 กลุ่มนี้มักเป็นส่วนประกอบของสารกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้ ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับสารเคมีเข้าไปเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้เกิดผลเสียกับร่างกาย
สารประกอบออร์กาโนคลอรีน (organochlorine compounds)
เป็นสารอินทรีย์ที่ประกอบด้วยธาตุคลอรีน ไฮโดรเจน คาร์บอน บางชนิดอาจมีออกซิเจนรวม อยู่ด้วยเรียกว่า คลอริเนเต็ดไฮโดรคาร์บอน (chlorinated hydrocarbon) เป็นสารกำจัดแมลงที่ ออกฤทธิ์ตกค้างนาน มีความคงตัว ไม่สลายตัว ไม่ละลายน้ำ ละลายได้ดีในน้ำมัน ลักษณะเป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น เป็นสารกลุ่มแรกที่นำมาใช้ควบคุมแมลงในบ้านเรือน ปัจจุบันสารในกลุ่มนี้หลายชนิดจัดเป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 คือ ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เพราะมีพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ก่อให้เกิดมะเร็ง ตกค้างในสิ่งแวดล้อม แพร่กระจายและสะสมเพิ่มขึ้นในสัตว์ต่าง ๆ ตามลำดับในชั้นห่วงโซ่อาหาร สารในกลุ่มนี้ เช่น ดีดีที (DDT) คลอร์เดน (chlordane) อัลดริน (aldrin) บีเอชซี (BHC) ดีลดริน (dieldrin) เฮพตาคลอร์ (heptachlor) เป็นต้น
สารประกอบออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate compounds)
เป็นสารอินทรีย์ที่มีธาตุฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบสำคัญ ละลายได้ดีในน้ำและตัวทำละลาย อินทรีย์ ออกฤทธิ์ทำให้แมลงตายโดยการสัมผัสและดูดซึมเข้าสู่ตัวแมลง มีฤทธิ์อยู่ได้นานกว่าสารกลุ่ม ไพรีทรอยด์สังเคราะห์ นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดพ่นและเหยื่อ นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ โคลีนเอสเตอเรส (cholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยในการทำงานของระบบประสาทของมนุษย์และ สัตว์ ดังนั้น จึงมีข้อควรระวังสำหรับผู้สัมผัสกับสารกลุ่มนี้ คือ จะต้องตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาระดับซีรั่มโคลีนเอสเตอเรส สารในกลุ่มนี้ เช่น ไดคลอร์วอส หรือดีดีวีพี (dichlorvos or DDVP) ไดอะซินอน (diazinon) มาลาไทออน (malathion) คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เทเมฟอส (temephos) เป็นต้น
สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (synthetic pyrethroids)
เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายสารไพรีทรินส์ที่สกัดมาจากดอกเบญจมาศ ตระกูล Chrysanthemum สารไพรีทรินส์เป็นสารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยในการใช้ มีพิษต่อสัตว์เลี้ยง ลูกด้วยนมต่ำ แต่ด้วยคุณสมบัติที่ไม่ทนต่อแสงของสารนี้ จึงมีการผลิตสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ขึ้นแทนเพราะ ทนต่อแสงได้นานกว่า สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลงโดยเกิดพิษที่ระบบประสาทของแมลง แต่สำหรับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์พบว่า เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงและถูกขับถ่ายออกโดยไม่สะสม ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนในสิ่งแวดล้อม ดิน และพืชจะเสื่อมสลายอย่างรวดเร็ว สารในกลุ่มนี้ เช่น อัลเลทริน (allethrin) ไบโออัลเลทริน (bioallethrin) ไบโอเรสเมทริน (bioresmethrin) ไซเพอร์เมทริน (cypermethrin) เพอร์เมทริน (permethrin) ไซฟลูทริน (cyfluthrin) เป็นต้น
สารกลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate)
คาร์บาเมต (carbamates) เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร (pesticides) ที่ใช้เป็นสารฆ่าแมลงที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน สารเคมีในกลุ่มนี้ ชนิดแรกที่มีประวัติในการใช้ คือ อีเซอรีน (eserine) หรือ ไฟโสสติกมีน (physostigmine) สารนี้เป็นสารพิษที่พบในเมล็ดถั่วคาลาบาร์ (Calabar beans) ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เลกูมิโนเซ (Leguminosae) จากอัฟริกาตะวันตก เมล็ดถั่วคาลาบาร์นี้จะใช้กระบวนการทางกฎหมาย โดยผู้ที่ตกเป็นต้องสงสัยในคดีต่างๆ ต้องรับประทานยาที่ปรุงจากเมล็ดถั่วนี้ ถ้าสามารถรอดชีวิตได้จะถือว่าไม่มีความผิด การทดสอบนี้ทำเพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์มากกว่าเป็นการลงโทษ อีเซอรีนเป็นสารยับยั้งแอซีทิลโคลีนเอสเทอเรส (acetylcholinesterase inhibitor) ชนิดแรกที่เป็นที่รู้จัก โดยมีค่าที่ทำให้ประชากรหนูตาย 50% หรือที่เรียกว่า ค่าแอลดี 50 (LD50) โดยการกินเท่ากับ 4.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และโดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง เท่ากับ 0.64 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โครงสร้างทั่วไปของสารฆ่าแมลงกลุ่มคาร์บาเมต อีเซอรีน และคาร์บาเมตอื่นๆ ในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยการทำปฏิกิริยาที่ตำแหน่งออกฤทธิ์ (active site) ที่เดียวกับซับสเตรต (substrate) หรือสารตั้งต้นของเอนไซม์ และสารฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสฟอรัส (organophosphorus) แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ เมื่อกลุ่มแทนที่คาร์บาเมตไปจับกับเอนไซม์แล้วจะเกิดไฮโดรไลซิส (hydrolysis) หรือแยกสลายออกมาจากเอนไซม์ได้ง่ายกว่าออร์แกโนฟอสฟอรัส แต่ยากกว่าซับสเตรต