‘เซ็นทรัลแล็บไทย’ หนุนรัฐดันขับเคลื่อน ‘สร้างมาตรฐานสินค้า’ เปิดศูนย์บริการครบวงจรขึ้นทะเบียน อย.
‘เซ็นทรัลแล็บไทย’ หนุนรัฐดันขับเคลื่อน ‘สร้างมาตรฐานสินค้า’ เปิดศูนย์บริการครบวงจรขึ้นทะเบียนอย. เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี
บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บไทย ขยายงานให้บริการด้านการขอคำแนะนำในการขอขึ้นทะเบียนอาหาร (อย.) โดยเปิดศูนย์บริการครบวงจรขึ้นทะเบียนอาหาร (อย.) หรือ FDA Produce Register - One Stop Service Center เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ครบรอบ 21 ปี ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 เพื่ออำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำผู้ประกอบการสินค้าประเภทอาหารในการขอเลขสารบบ 13 หลัก บนเครื่องหมาย อย.
นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการทางห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่จำเป็นต้องมีเครื่องหมาย อย.บนผลิตภัณฑ์ เข้ามาขอคำแนะนำกับทางเซ็นทรัลแล็บอย่างต่อเนื่อง จึงเล็งเห็นว่าการขยายงานบริการให้คำแนะนำดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียน อย.ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นการสนับสนุนงานภาครัฐให้มีความสะดวกและรวดเร็วได้ ด้วยศักยภาพของแล็บที่มีสาขาครอบคลุมในทุกภูมิภาค จะช่วยทำให้งานบริการเข้าถึงประชาชนและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น
ภายในงานได้จัดเสวนาในหัวข้อ “กว่าจะได้เลข 13 หลัก อย. ทำอย่างไร?” ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณนฤมล ฉัตรสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), คุณวัลลี ใจเย็น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ และ คุณคณิต ปรีดาภรณ์ภากร รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการ และในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์ฯ ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฟังการเสวนามากกว่า 70 ราย
คุณนฤมล ฉัตรสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นหน่วยงานคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะบรรจุที่ปิดผนึกกันการหก โดยมีระบบการกำกับดูแลอาหารก่อนออกสู่ตลาด ด้วยการขอเลขสารบบอาหาร หรือที่เรียกว่าเลข อย.เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวได้ดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้อง การดำเนินการดังกล่าวประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่
1. เลขสถานที่ผลิต/นำเข้าอาหาร ในส่วนสถานที่ผลิตอาหารไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ จะได้รับการตรวจตามหลักเกณฑ์กรรมวิธีการผลิตที่ดี (GMP 420) เมื่อผ่านขั้นตอนนี้จะได้รับเลขสถานที่ 8 หลัก
2. เลขผลิตภัณฑ์ (เลข อย.)
ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนประเมินสูตรส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิต คุณภาพหรือมาตรฐาน และฉลากอาหาร ตามลำดับความเสี่ยงอาหาร กรณีอาหารเสี่ยงต่ำ เช่น ขนมขบเคี้ยว เพื่อการอำนวยความสะดวกและให้เกิดความรวดเร็วต่อธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถประเมินข้อมูลข้างต้นได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า สบ.7 เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้จะได้รับเลข 13 และนำไปแสดงในเครื่องหมาย อย.พร้อมจัดทำฉลากอาหารตาม กม.ต่อไป
คุณวัลลี ใจเย็น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ ระบุว่า การขึ้นทะเบียน อย.ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากการจะนำสินค้าไปขายตามร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะในร้านค้าชั้นนำ ขอกำหนดหลักในการพิจารณารับซื้อสินค้า คือการแสดงเครื่องหมาย อย. และการฉลากโภชนาการ ดังนั้น การขึ้นทะเบียน อย.จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมาการยอมรับว่าการขอเลขสารบบ 13 หลักเป็นเรื่องยาก เพราะมีรายละเอียด และเอกสารจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการที่กำลังจะขึ้นทะเบียนต้องศึกษาข้อกฎหมาย และเตรียมเอกสารให้ดี
คุณคณิต ปรีดาภรณ์ภากร รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการ ในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์ฯ ระบุว่า บทบาทหน้าที่สำคัญของเซ็นทรัลแล็บไทย คือการให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการถึงขั้นตอน กระบวนการตรวจ และเอกสารต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องมี ไปจนถึงขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียนและได้มาซึ่งเลข อย. ตลอดระยะเวลา 21 ปี เซ็นทรัลแล็บไทยทำงานด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้ามาแล้วกว่า 3 แสนรายต่อปี รวมถึง การจัดทำฉลากโภชนาการ ทั้งนี้ การเปิดศูนย์บริการครบวงจรฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการขอขึ้นทะเบียน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด “สะดวก ครบ จบที่เดียว” พร้อมยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ในงานยังมีออกบูทให้คำแนะนำ การตรวจฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ 445 ที่จะกำหนดใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567, การตรวจอายุผลิตภัณฑ์, การตรวจเชื้อก่อโรค และสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบเครื่องมือ การตรวจประเมินและรับรองระบบ GAP, GMP HACCP และการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นบริการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินการจัดทำสถานที่ผลิต จัดเก็บ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เอื้อต่อการขอขึ้นทะเบียน อย.ต่อไปในอนาคต
ที่มา : naewna