บังคับใช้แล้ว! "เซ็นทรัลแล็บไทย" รับลูก สธ. แนะผู้ประกอบการตรวจฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่ ระวังโทษหนักถูกปรับสูง
บังคับใช้แล้ว! "เซ็นทรัลแล็บไทย" รับลูก สธ. แนะผู้ประกอบการตรวจฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่ หลังมีผลบังคับใช้วันนี้ 2 ก.ค. หากตรวจพบไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับถึง 30,000 บาท ส่วนฉบับเดิมใช้ต่อได้ 3 ปี
วันที่ 2 ก.ค.2567 ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการ รูปแบบใหม่ ในรอบ 25 ปี ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับ 445) มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ง่ายต่อการอ่านของผู้บริโภค ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ก.ค.2567นี้
สำหรับรายละเอียดที่มีการเปลี่ยนแปลงบนฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่หลักๆ มีดังนี้
1.จำนวณหน่วยบริโภคต่อ เปลี่ยนคำใหม่กลายเป็น กินได้..ครั้ง ต่อ… แทน
2.หนึ่งหน่วยบริโภค เปลี่ยนคำใหม่เป็นคุณค่าทางโภชนาการต่อการกินหนึ่งครั้ง : … (…)
3.ลดรายการสารอาหารลงจาก 15 รายการ เหลือ 9 รายการ
4.เพิ่มข้อมูลสารอาหาร “โพแทสเซียม”
5.กำหนดขนาดตัวหนังสือใหญ่ขึ้น และลดจำนวนข้อมูลน้อยลง
6.หากมีการแสดงฉลากโภชนาการผิดรูปแบบ ถือว่าผิดกฎหมาย (นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงการจัดทำฉลากโภชนาการ)
ด้านนายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการเซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า เซ็นทรัลแล็บไทยในฐานะแล็บของรัฐ พร้อมให้บริการและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามกฏหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ 445 ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากโภชนาการ อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องทำฉลากสินค้าใหม่ สำหรับลูกค้าเซ็นทรัลแล็บไทยที่ตรวจฉลากโภชนาการกับทางแล็บไปแล้วนั้น สามารถแจ้งความประสงค์ขอจัดทำฉลากใหม่ โดยเป็นการตรวจเพิ่มเพียงรายการเดียวคือ โพแทสเซียม ในราคาตัวอย่างละ600บาท จึงไม่จำเป็นต้องตรวจใหม่ทั้งหมด จากนั้นทางแล็บจะออกใบรายงานผลฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่ให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ รวมถึง ได้จัดทำโปรโมชั่นพิเศษการจัดทำฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่ ทั้งแบบภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะจัดทำใหม่ หลังมีผลบังคับใช้ในวันนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่มีการจัดทำฉลากโภชนาการรูปแบบเดิมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 จะยังคงจำหน่ายต่อไปได้ “ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 ปี” นับแต่วันที่ประกาศฉบับ 445 มีผลบังคับใช้ คือ ไม่เกินวันที่ 1 ก.ค. 2570 และหลังจากนี้ หากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ ตรวจพบจัดว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(10) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ที่มา : siamrath