บริษัท ห้องปฏิบัติกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย เปิดศูนย์บริการรับตัวอย่างอย่างเป็นทางการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเกษตรและประมงในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อม นายนราวิทย์ เปาอินทร์ กรรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็ลทรัลแล็บไทย เป็นประธาน ร่วมเปิดศูนย์บริการรับตัวอย่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างเป็นทางการ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพสินค้าในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการการทองเที่ยว และการขนส่งโลจิสติกส์ โดยเหตุผลที่เซ็นทรัลแล็บไทย เลือกจังหวดสุราษฎร์ธานีเป็นจุดรับตัวอย่าง เนื่องจากเล็งเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถรองรับการให้บริการผู้ประกอบการ และหน่วยงานทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน ในภาคใต้ตอนบน ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังเป็นการรักษามาตรฐานของสินค้าก่อนจะส่งไปตรวจวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนและแม่นยำ การขนส่งสินค้าในระยะทางไกลจำเป็นต้องถูกควบคุมมาตรฐาน ในการขนส่งสินค้าไปตรวจสอบยังสาขาสงขลา และสาขาอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ และขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยตรวจสอบและวิเคราะห์สินค้าในพื้นที่ภาคใต้
นายนราวิทย์ เปาอินทร์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ศูนย์บริการแห่งใหม่นี้พร้อมที่จะเปิดให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในจังหวดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ตัวอย่างส่งเข้าถึงห้องปฏิบัติการได้รวดเร็ว ด้วยผลการทดสอบมีความถูกต้องแม่นยำเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้ามั่นใจว่าสินค้าที่ส่งตรวจมีมาตรฐานที่ปลอดภัย ในการบริโภค เพิ่มศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาด ทั้งในและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่าหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่สำคัญคือ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยมีเป้าประสงค์เชิงกลยุทธ์ 2 ข้อ คือ 1.มูลค่าทางเศรษฐกิจของยางพาราและปาล์มน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และ 2.สินค้าเกษตรมีคุณภาพปลอดภัยระดับมาตรฐาน ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และการยอมรับของสินค้าในจังหวัด สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพภาคการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว เงาะ ทุเรียน และกาแฟ นอกจากนี้ยังมีการปศุสัตว์และประมงในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากผลผลิตทางเกษตรกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ซึ่งในจังหวัดมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 730 โรงงาน
ที่มา : Workpoint news