สุขภาพดี… เริ่มต้นด้วยฉลาก

on .

สุขภาพดี… เริ่มต้นด้วยฉลาก

ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการจากยี่ห้อ (แบรนด์) โดยไม่สนใจที่จะอ่านฉลากเล็กๆ ที่ติดอยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) หรือบรรจุภัณฑ์ทำให้พลาดโอกาสในการรับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่สามารถใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ

ผู้ผลิตจะมีการใส่ข้อมูลหรือสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่าย ใช้สื่อสารกับผู้บริโภคว่าสินค้าและบริการนั้นๆ ผลิตจากกระบวนการพิเศษ หรือมีคุณสมบัติพิเศษโดดเด่นอย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ได้ซื้อสินค้าและบริการตรงกับความต้องการ คุ้มค่าแก่เงินที่จ่ายไป

ฉลากที่ติดบนตัวผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ ส่วนมากจะสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และโภชนาการ โดยการติดฉลากด้านสิ่งแวดล้อมจะมีหลักเกณฑ์ตาม ISO 14020 ซึ่งจะกำหนดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาและการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตอาจติดฉลากสิ่งแวดล้อมเองหรืออาจให้หน่วยงานกลางอื่นรับรองก่อนติดฉลากเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า สินค้าและบริการนั้นๆ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ตัวอย่างข้อมูลที่ติดบนฉลากหรืออาจแสดงเป็นสัญลักษณ์ที่พบเจอบ่อยๆ เช่น สามารถย่อยสลายได้ สามารถแตกสลายได้ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถแปรสภาพใช้ใหม่ได้ (Recyclable) ลดการใช้น้ำ (Reduced Water Consumption) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) ผลิตจากสารธรรมชาติ ฯลฯ การติดฉลากด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการติดโดยผู้ผลิตเพื่อแสดงว่าสินค้าและบริการนั้นมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพิเศษมีความแตกต่างจากสินค้าและบริการอื่นๆ ดังนั้นการติดฉลากจึงต้องติดฉลากให้ชัดเจนมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค

ฉลากโภชนาการเป็นอีกฉลากหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภค เป็นฉลากที่แสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารในกรอบสี่เหลี่ยม (Nutrition Information) การอ่านข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมตรงตามภาวะโภชนาการ สามารถเปรียบเทียบเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อที่ให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ หรือกลุ่มผู้รักสุขภาพที่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณสารอาหารเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมได้ การระบุรายละเอียดของชนิดและปริมาณสารอาหารที่มีในอาหารจะต้องระบุตามรูปแบบเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข การปลอมแปลงฉลากโภชนาการถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

จะเห็นได้ว่าการแสดงฉลากสิ่งแวดล้อมและฉลากโภชนาการมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารด้วยข้อมูลสั้นๆ เข้าใจได้ง่ายและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

โดย : กัญญาณี แสงเกียรติยุทธ ศูนย์ขับเคลื่อนมาตรฐานและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด


บริษัท ห้องปฎิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด
เลขที่ 2179 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : (66)-2940-5993, (66)-2940-6881-3 l โทรสาร : (66)-2940-6668