สารกันบูด คือ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ถนอมอาหารและยืดอายุในการเก็บรักษา ซึ่งหากรับประทานอาหารที่เจือปนสารกันบูดในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย หรือหมดสติได้ ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดการใช้สารกันบูดในอาหารอย่างเคร่งครัด โดยสารกันบูดที่อนุญาตให้ใช้ ดังนี้
กลุ่มกรดอ่อนและเกลือของกรดอ่อน นิยมใช้กันมากในสินค้าอุตสาหกรรม เพราะมีความเป็นพิษน้อย มีประสิทธิภาพ และละลายน้ำได้ดี ได้รับอนุญาตให้ใส่ในอาหารหลายชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง น้ำหวาน และน้ำอัดลม เป็นต้น
กลุ่มซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีประสิทธิภาพสูงคล้ายสารกันบูดกลุ่มแรก อนุญาตให้ใช้ในไวน์ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ชนิดแห้งและแช่อิ่ม เป็นต้น
กลุ่มไนเตรตและไนไตรท์ เป็นสารตรึงสี หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อดินประสิว อนุญาตให้ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักที่ผ่านกรรมวิธีบรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น แฮม ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง และเบคอน เป็นต้น
กลุ่มอื่น ๆ เช่น สารพาราเบนส์ที่มีประสิทธิภาพยับยั้งหรือทำลายเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย หรือสารปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพทำลายหรือยับยั้งจุลินทรีย์ เป็นต้น