Print this page

เซ็นทรัลแล็บไทย จับมือ วิทยาลัยแพทย์ มธ. สร้างมาตรฐานงานวิจัย กัญชงกัญชา


วันที่ 11 มิถุนายน 2564 บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามความร่วมมือกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมการตรวจคุณภาพและวิจัย โดยเฉพาะสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชสมุนไพรกัญชากัญชง ตามนโยบายภาครัฐ

นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า ตามนโยบายของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยปลูกพืชสมุนไพรกัญชงและกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เซ็นทรัลแล็บไทย ในฐานะที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจากกระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญ ทั้ง THC และ CBD ในผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการทุกชนิด รวมถึงการตรวจมาตรฐานกระบวนการผลิตในธุรกิจพืชสมุนไพรกัญชงกัญชา ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งในเชิงคุณภาพเชิงปริมาณและตรวจสอบความปลอดภัย

“สำหรับการร่วมมือกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมาย สำคัญในการร่วมกันพัฒนาวิจัยทางห้องปฏิบัติการ การตรวจประเมิน เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมไปถึงความร่วมมือในการจัดทำโครงการฝึกอบรมบุคลากรและนักศึกษาเพื่อการวิจัยและการพัฒนาทางด้านการศึกษา” นายชาคริต กล่าว

ศ.ดร.นพ.อดิศว์ ทัศณรงค์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ตามยุทธศาสตร์ปี พ.ศ. 2558 กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีพยายามขานรับนโยบายดังกล่าว พร้อมสนับสนุนให้ทุกอุตสาหกรรมเร่งปรับตัวเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร การดำเนินธุรกิจ รวมถึงการเปิดรับเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคและธุรกิจยุคใหม่ โดย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีความหมายถึงอุตสาหกรรมที่มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

โดยหนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมการแพยท์ครบวงจร (Medical Hub) และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) สร้างเครือข่ายวิจัย พัฒนา และผลิตสายพันธุ์พืชเศรษฐกิจใหม่ อาทิ กัญชา กัญชง กระท่อม รวมถึงพืชสมุนไพร ตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) เทียบเท่าต่างประเทศ แบบครบวงจร ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นสายพันธุ์ในประเทศ และสายพันธุ์ต่างประเทศ ให้มีศักยภาพของสารสำคัญตามความต้องการทางการแพทย์ และส่วนพันธุ์ลูกผสมปรับปรุงให้สามารถปลูกภายใต้สภาพภูมิอากาศประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รองรับการวิจัยทดลองทางคลินิก และรักษาผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีน้ำมันสารสกัดที่เพียงพอและมีคุณภาพได้มาตรฐานทางการแพทย์ สำหรับนำไปใช้ในการวิจัยพัฒนาทดลองทางคลินิก และรักษาบรรเทาโรคต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS) ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยและเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป

ทั้งนี้ พืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าอย่าง สายพันธุ์กัญชา กัญชง ที่มีการปลูก การเก็บเกี่ยวที่ดี เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practice; GAP : Propagation and Cultivation) จะทำให้ได้วัตถุดิบที่ดีมีสารสำคัญเป็นตามมาตรฐาน ปลอดภัยปราศจากสารพิษปนเปื้อน และมีจำนวนที่เพียงพอ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและต้องดำเนินการแบบครบวงจร ร่วมส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการปลูก การสกัด การแปรรูปและการนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากกัญชาและกัญชงอย่างถูกต้องให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภาคธุรกิจ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เพื่อการพึ่งพาตนเองได้และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของประเทศไทย ในการผลิตและการวิจัยด้านกัญชาและกัญชงเพื่อใช้ในทางการแพทย์ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการสร้างมาตรฐานการผลิต (ปลูก) ตามที่กฏหมายกำหนด

ที่มา : MGROnline