Print this page

10 หน่วยงาน จับมือขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ จ.เลย สู่มาตรฐานสากล

วันนี้ ( 11 ก.ย. 62 ) นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดเลย สู่มาตรฐานสากล” โดยการลงนามครั้งนี้ประกอบไปด้วย 10 หน่วยงาน คือ จังหวัดเลย , สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย , สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเลย , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย, หอการค้าจังหวัดเลย, สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนเลย, มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย, บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด , สมาคมภัตตาคารไทย และ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่เขตเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยังยืน) องค์การมหาชน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ระบุว่า การลงนามครั้งนี้ถือความภาคภูมิใจของจังหวัดเลย ที่หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น จะร่วมกันช่วยส่งเสริม ขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนายกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดเลย ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดเลย “เมืองน่าอยู่เมืองแห่งการท่องเที่ยวการค้าและการลงทุนภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพและผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ให้มีคุณภาพและมาตรฐานและสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาเกษตรพร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าสู่ระดับสากล ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือทั้ง 10 หน่วยงานในวันนี้ เชื่อว่าจะทำให้จังหวัดพัฒนาในทุกมิติเต็มรูปแบบในอนาคต

นอกจาก 10 หน่วยงานที่ร่วมลงนามแล้ว ยังได้รับเกียรติจาก ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอารยะ โรจนวณิชชากร เดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ โดยนายอารยะ กล่าวถึงการเดินหน้าการทำเกษตรอินทรีย์ว่า เกษตรอินทรีย์ ถือเป็นนโยบายสำคัญของประเทศไทย และยังเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมในทุกๆจังหวัด ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย โดยจะใช้สินค้าปลอดสารพิษมาประกอบอาหารให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าแบบอินทรีย์ให้มีช่องทางการขาย เพื่อพัฒนาให้เกิดการผลิตสินค้าปลอดสารพิษมากขึ้น สำหรับการลงนามความร่วมมือของจังหวัดเลยครั้งนี้ เชื่อว่าจะกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาอาหารปลอดภัยให้กับจังหวัดอื่นๆได้ในอนาคต เพราะหลังจากนี้รัฐบาลเตรียมพร้อมเดินหน้าพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในหลายๆจังหวัด

ด้านนายนราวิทย์ เปาอินทร์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ภายใต้การกำกับของรัฐ ระบุว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ตลอดจนเกษตรอินทรีย์ต่างชาติกำลังเป็นที่นิยม และเกิดการแข่งขันจำนวนมาก ดังนั้นการร่วมลงนามความร่วมมือกับจังหวัดเลยครั้งนี้ เพื่อต้องการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรจังหวัดเลย ให้ได้มาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ ตามที่สากลกำหนด เพื่อส่งเสริม และยกระดับสินค้าของผู้ผลิตให้มีมาตรฐาน ส่งขายยังศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในประเทศไทย และสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้

สำหรับวัตถุประสงค์ของบันทึกของตกลงในวันนี้มีวัตถุประสงค์ ใน 4 เรื่องด้วยกันคือ ส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันให้สินค้าเกษตรของจังหวัดคุณภาพปลอดภัยไร้สารตกค้างต้องห้ามตามแนวทางของเกษตรอินทรีย์, ส่งเสริมสนับสนุนการผลักดันให้ระบบการผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัดเลยมีการดำเนินการอย่างรับผิดชอบทั้งระบบ , ส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการต่อเนื่องใช้ทรัพยากรในการประกอบอาชีพอย่างถูกต้องเหมาะสมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ พัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเลยให้ก้าวไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน