Print this page

แล็บประชารัฐ ร่วมกับ ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดโมเดล “อาหารประมงปลอดภัย” ยกระดับมาตรฐานสินค้าประมงแบบครบวงจร

นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ แล็บประชารัฐ เปิดเผยว่า แล็บประชารัฐ ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินโครงการ “พัฒนาคุณภาพสินค้าประมงให้มีคุณภาพมาตรฐานสู่ครัวไทย ปี 2560” ด้วยการเก็บตัวอย่างสินค้าประมง จำนวน 220 ตัวอย่าง จากฟาร์มเพาะเลี้ยงลัสถานที่จำหน่ายในจังหวัดฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 11 อำเภอ ประกอบด้วย ปลากะพง ปลานิล ปลาสลิด กุ้งขาวแวนาไม และอาหารทะเลแปรรูป เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง สารโลหะหนัก และเชื้อก่อโรค ซึ่งจะช่วยสร้างกระแสเชิงรุกด้านความต้องการสินค้าประมงปลอดภัย รองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แหล่งผลิตสินค้าประมงที่มีความปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ ฟาร์มเพาะเลี้ยงและสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการตรวจประเมินจะได้รับป้ายรับรอง “อาหารประมงปลอดภัย” จากแล็บประชารัฐ เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและขยายโอกาสทางการตลาด ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการตรวจประเมิน แล็บประชารัฐ จะจัดเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการลงพื้นที่ให้คำแนะนำ เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานระดับสากล สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก โดยจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้นแบบความร่วมมือทำโครงการ “อาหารประมงปลอดภัย” แบบครบวงจรแห่งแรก

ด้านนายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า จังหวัด ฉะเชิงเทรา มีการทำประมงทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มบนพื้นที่หลายแสนไร่ นับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้เข้าจังหวัด และประชากรส่วนใหญ่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ กรมประมง จึงตระหนักถึงสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งจะได้รับจากการบริโภคอาหารที่ได้มาตรฐานตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้เดินหน้าโครงการพัฒนาสินค้าประมงเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้จังหวัดเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมประมงของประเทศ

“ผลผลิตสัตว์น้ำส่วนใหญ่ของฉะเชิงเทรามาจากการทำประมงชายฝั่ง ซึ่งประกอบด้วยกุ้งขาวแวนาไม และปลากะพง โดยในปี 2560 คาดการณ์ปริมาณผลผลิตไว้ที่ 28,000 ตัน ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 7.7 รองลงมาคือ การทำประมงน้ำจืด ซึ่งมีปลาสลิดและปลานิลเป็นผลผลิตหลักประมาณ 15,000-17,000 ตันต่อปี ในช่วงปี 2559-2560 และสุดท้ายคือ การทำประมงพื้นบ้าน คาดการณ์ปริมาณผลผลิตในปีนี้ไว้ที่ 1,700 ตัน หดตัวจากปีก่อนร้อยละ 15” นายสุวิทย์กล่าว